วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556

เทศกาลงานประเพณี งานชักพระ

 
ประเพณีลากพระหรือชักพระ
 
 
 

วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา คือวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระ ไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด
ความสำคัญ
เป็นประเพณีทำบุญ ในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับ มายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าประทับ บนบุษบกแล้วแห่แหน
พิธีกรรม 1. การแต่งนมพระ
นมพระ หมายถึงพนมพระเป็นพาหนะ ที่ใช้บรรทุกพระลาก นิยมทำ ๒ แบบ คือ ลากพระทางบก เรียกว่า นมพระ ลากพระทางน้ำ เรียกว่า "เรือพระ" นมพระสร้างเป็นร้านม้า มีไม้สองท่อนรองรับข้างล่าง ทำเป็นรูปพญานาค มีล้อ ๔ ล้ออยู่ใต้ตัวพญานาค ร้านม้าใช้ไม้ไผ่สานทำฝาผนัง ตกแต่งลวดลายระบายสีสวย รอบ ๆ ประดับด้วยผ้าแพรสี ธงริ้ว ธงสามชาย ธงราว ธงยืนห้อยระยาง ประดับต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้สดทำอุบะห้อยระย้า มีต้มห่อด้วยใบพ้อแขวนหน้านมพระ ตัวพญานาคประดับกระจก แวววาวสีสวย ข้าง ๆ นมพระแขวนโพน กลอง ระฆัง ฆ้อง ด้านหลังนมพระวางเก้าอี้ เป็นที่นั่งของพระสงฆ์ ยอดนมอยู่บนสุดของนมพระ ได้รับการแต่งอย่างบรรจง ดูแลเป็นพิเศษ เพราะความสง่าได้สัดส่วนของนมพระ ขึ้นอยู่กับยอดนม
2. การอัญเชิญพระลากขึ้น ประดิษฐานบนนมพระ
พระลาก คือพระพุทธรูปยืน แต่ที่นิยมคือ พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร เมื่อถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พุทธบริษัทจะสรงน้ำพระลาก เปลี่ยนจีวร แล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐาน บนนมพระ แล้วพระสงฆ์จะเทศนา เรื่องการเสด็จไปดาวดึงส์ ของพระพุทธเจ้า ตอนเช้ามืดในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ชาวบ้านจะมาตักบาตรหน้านมพระ เรียกว่า ตักบาตรหน้าล้อ เสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระลากขึ้น ประดิษฐานบนนมพระ ในตอนนี้บางวัด จะทำพิธีทางไสยศาสตร์ เพื่อให้การลากพระราบรื่น ปลอดภัย
3. การลากพระ
ใช้เชือกแบ่งผูกเป็น ๒ สาย เป็นสายผู้หญิงและสายผู้ชาย โดยใช้โพน (ปืด) ฆ้อง ระฆัง เป็นเครื่องตีให้จังหวะเร้าใจ ในการลากพระ คนลากจะเบียดเสียดกันสนุกสนาน และประสานเสียงร้องบทลากพระ เพื่อผ่อนแรง
ตัวอย่าง บทร้องที่ใช้ลากพระสร้อย :
อี้สาระพา เฮโล เฮโล
ไอ้ไหรกลมกลม หัวนมสาวสาว
ไอ้ไหรยาวยาว สาวสาวชอบใจ
สาระ

ประเพณีลากพระ เป็นการแสดงออก ถึงความพร้อมเพรียง สามัคคีพร้อมใจกัน ในการทำบุญทำทาน จึงให้สาระและความสำคัญดังนี้
1. ชาวบ้านเชื่อว่า อานิสงส์ในการลากพระ จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล เกิดคติความเชื่อว่า "เมื่อพระหลบหลัง ฝนจะตกหนัก" นมพระจึงสร้างสัญลักษณ์พญานาค เพราะเชื่อว่าให้น้ำ การลากพระ จึงสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ของคนในสังคมเกษตร
2. เป็นประเพณีที่ปฏิบัติตามความเชื่อว่า ใครได้ลากพระทุกปี จะได้บุญมาก ส่งผลให้พบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น เมื่อนมพระ ลากผ่านหน้าบ้านของใคร คนที่อยู่ในบ้านจะออกมาช่วยลากพระ และคนบ้านอื่น จะมารับทอดลากพระต่อ อย่างไม่ขาดสาย
3. เกิดแรงบันดาลใจ แต่งบทร้อยกรองสำหรับขับร้อง ในขณะที่ช่วยกันลากพระ ซึ่งมักจะเป็นบทกลอนสั้น ๆ ตลก ขบขัน และโต้ตอบกัน ได้ฝึกทั้งปัญญาและปฏิภาณไหวพริบ

มีหลายจังหวัดที่จัดประเพณีนี้เป็นประจำทุกปีในวันออกพรรษา สำหรับจังหวัดปัตตานีมีงานชักพระที่จัดเป็นงานเทศกาลประจำปี มีการลากพระมาชุมนุมกัน คืองานชักพระ อำเภอโคกโพธิ์ และงานชักพระ อำเภอปะนาเระ
ประเพณีลากพระหรือชักพระตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา ทางภาคกลางมีประเพณีตักบาตรเทโว หรือคำเดิมว่าเทโวโรหณะซึ่ง มีที่มาของประเพณีและวิธีการทำพิธีคล้ายกับประเพณีลากพระของชาวใต้ และมีเหตุผลในการจัดงานนี้ คือ เมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จแสดงธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือดุสิตเทพพิภพนั้น พระองค์ได้เสด็จกลับมายังมนุษยโลกทางบันไดแก้วถึงที่ประตูเมืองสังกัสสะใน ตอนเช้าตรู่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันออกพรรษา พุทธบริษัทต่างยินดีจึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่ได้จัดเตรียมไว้ แล้วแห่แหนกลับไปยังที่ประทับ

กล่าวสำหรับจังหวัดปัตตานีแล้ว มีประเพณีลากพระเดือน 5 ที่วัดคอกควาย อำเภอปะนาเระ เป็นการลากพระบนบก ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ปฏิบัติสืบต่อกันมานับร้อยปี มีวัตถุประสงค์เพื่อความสนุกสนานภายหลังจากวันว่างที่เป็นประเพณีวันสรงน้ำพระ และทำบุญกระดูกปู่ย่าตายาย ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5

สำหรับการเตรียมการทางวัดจะจัดเตรียมเรือพระ ซึ่งมีทั้งลากในน้ำ ถ้ามีลำน้ำ ถ้าไม่มีน้ำก็ลากเรือบก มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปบนเรือพระ มีหลังคาทำเป็นบุษบกหรือชาวบ้านเรียก พนม ตกแต่งสวยงาม ส่วนชาวบ้านเตรียมอาหารที่สำคัญ คือ ข้าวต้มห่อด้วยใบกะพ้อ

เมื่อถึงวันงานจะเริ่มต้นที่วัดชาวบ้านนำ ข้าวต้มมัดมาบรรทุกในเรือพระ เมื่อพระฉันเสร็จสรรพแล้วก็ช่วยกันลากเรือพระออกจากวัดไปสู่ที่หมาย ประมาณว่าให้ไปถึงที่หมายก่อนเวลาพระฉันเพล พอตกบ่ายลากเรือพระกลับวัด ขากลับนี้ก็จะเป็นช่วงสนุกสนานที่ชาวบ้านทุกเพศทุกวัยมาเล่นสนุกกัน ตลอดเวลาของการชักพระจะมีการตีกลอง ฆ้อง ประโคมตลอดเวลา ส่วนรูปแบบการจัดก็แตกต่างกันไป เช่น บางวัดมีงานมหรสพแสดงที่วัด บางแห่งนำเรือพระไปค้างคืนมีการแสดงเป็นงานเทศกาล บางแห่งลากพระไปกลับก็จบกัน เป็นต้น

 

 




 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น