วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

กฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวง
 
 



กฎหมายตราสามดวง คือ ประมวลกฎหมายในรัชกาลที่ 1 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ชำระกฎหมายเก่า ที่มีมาแต่ครั้งโบราณ แล้วรวบรวมเป็นประมวลกฎหมายขึ้นเมื่อ จุลศักราช 1166 ตรงกับ พ.ศ. 2347 โปรดให้เรียกว่า กฎหมายตราสามดวงให้อาลักษณ์ชุบเส้นหมึกสามชุด แต่ละชุดประทับตรา 3 ดวง คือ ตราพระราชสีห์ (สำหรับตำแหน่ง สมุหนายก) 1 ตราพระคชสีห์ (สำหรับตำแหน่ง สมุห์พระกลาโหม) 1 และตราบัวแก้ว (สำหรับตำแหน่งโกษาธิบดี หมายถึงพระคลัง ซึ่งดูแลรวมทั้งกิจการด้านต่างประเทศ) ไว้ทุกเล่มเก็บไว้ ณ ห้องเครื่องชุดหนึ่ง หอหลวงชุดหนึ่ง และศาลหลวงอีกชุดหนึ่ง

กฎหมายตราสามดวงนี้ ได้ใช้อาลักษณ์หลายท่านเขียนขึ้น โดยแยกเป็นฉบับหลวงและ ฉบับรองทรงโดยสันนิษฐานว่า สำหรับฉบับหลวง ชุดหนึ่งเป็นสมุดไทย 41 เล่ม เมื่อรวม 3 ชุด จึงมีทั้งสิ้น 123 เล่ม แต่เท่าที่พบ ในปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 79 เล่ม โดยเก็บไว้ที่กระทรวงยุติธรรม 37 เล่ม และที่หอสมุดแห่งชาติ 41 เล่ม ส่วนอีก 44 เล่ม ไม่ทราบว่าขาดหายไปด้วยประการใด ส่วน ฉบับรองทรง นั้น ก็คือ กฎหมายตราสามดวงที่อาลักษณ์ชุดเดียวกับที่เขียนฉบับหลวง ได้เขียนขึ้น โดยเขียนในเวลาไล่เลี่ยกัน โดยฉบับหลวง เขียนในปีฉลู จ.ศ.1167 (พ.ศ. 2348) ส่วนฉบับรองทรงเขียนขึ้นในปีเถาะ จ.ศ. 1169 (พ.ศ. 2350) ข้อแตกต่างระหว่าง ฉบับหลวง และฉบับรองทรง ก็คือ ฉบับรองทรงจะไม่มีตราสามดวงประทับไว้ และฉบับหลวงจะมีอาลักษณ์สอบทาน 3 คนส่วนฉบับรองทรงมีอาลักษณ์สอบทานเพียง 2 คน สำหรับกฎหมายตราสามดวง ฉบับรองทรงนี้ ปัจจุบันนี้พบเพียง 18 เล่ม โดยเก็บรักษาไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ 17 เล่มและที่พิพิธภัณฑ์อัยการไทย สำนักงานอัยการสูงสุด 1 เล่ม

เนื้อหา


 

มูลเหตุของการชำระกฎหมายตราสามดวง

กฎหมายที่ใช้กันอยู่ในระยะแรกของกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็คือกฎหมายที่ใช้อยู่เมื่อครั้ง กรุงศรีอยุธยา โดยอาศัยความจำ และการคัดลอกมาตามเอกสารที่หลงเหลือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงทำการวินิจฉัยเรื่องต่างๆ โดยอาศัยมูลอำนาจอธิปไตยของ พระองค์เองบ้าง อาศัยหลักฐานที่ได้จากการสืบสวน ฟังคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่บ้างจนกระทั่งได้เกิดคดีขึ้นคดีหนึ่งและมีการ ทูลเกล้าฯถวายฎีกา คดีที่เกิดขึ้นนี้แม้เป็นคดีฟ้องหย่าของ ชาวบ้านธรรมดา แต่ที่มีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์กฎหมาย ก็คือผลจากคดีนี้เป็นต้นเหตุให้นำมา ซึ่งการชำระสะสางกฎหมายในสมัยนั้น เป็นคดีที่อำแดงป้อม ฟ้องหย่านายบุญศรี ช่างเหล็กหลวง ทั้งๆ ที่ตนได้ทำชู้ กับ นายราชาอรรถ และศาลได้พิพากษาให้หย่าได้ตามที่อำแดงป้อมฟ้อง โดยอาศัยการพิจารณาคดีตามบทกฎหมาย ที่มีความว่า ชายหาผิดมิได้ หญิงขอหย่า ท่านว่าเป็นหญิงหย่าชาย หย่าได้

เมื่อผลของคดีเป็นเช่นนี้ นายบุญศรีจึงได้นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าถวายฎีกา ต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ทรงเห็นด้วยกับฎีกาว่าคำพิพากษาของศาลนั้น ขัดหลักความยุติธรรม ทรงสงสัยว่าการพิจารณาพิพากษาคดีจะถูกต้องตรงตามตัวฉบับกฎหมายหรือไม่ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้เทียบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ศาลใช้กับฉบับที่หอหลวงและที่ห้องเครื่อง แต่ก็ปรากฏ ข้อความที่ตรงกัน เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีพระราชดำริว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสม อาจมีความคลาดเคลื่อนจากการคัดลอก สมควรที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายใหม่ เหมือนการสังคายนา พระไตรปิฎกจากคดีอำแดงป้อมดังกล่าวข้างต้น ได้แสดงให้เห็นหลักกฎหมายสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของ กฎหมายที่ว่าแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามไม่มีพระราชอำนาจที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงกฎหมาย ตามอำเภอใจ

ในคดีนี้แม้จะทรงเห็นว่าคำตัดสินนั้นไม่สอดคล้องกับความยุติธรรม อันอาจเนื่องมาจากการคัดลอกกฎหมายมาผิด ก็ชอบที่จะจัดให้มีการชำระสะสางกฎหมายให้กลับไปสู่ความถูกต้องเหมือนการ สังคายนาพระไตรปิฎก ดังพระราชปรารภที่ว่า ให้กรรมการชำระพระราชกำหนดบทพระอายการ อันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมศาสตร์ไปให้ถูกถ้วน ตามบาลีและเนื้อความ มิให้ผิดเพี้ยนซ้ำกัน ได้จัดเป็นหมวด เป็นเหล่าเข้าไว้ แล้วทรงอุตสาห์ทรงชำระดัดแปลง ซึ่งบทอันวิปราดนั้นให้ชอบโดยยุติธรรมไว้

ความสำคัญของกฎหมายตราสามดวง

  • กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะเป็นกฎหมายของนักกฎหมาย (Juristenrecht) กล่าวคือ กฎเกณฑ์ส่วนใหญ่ของกฎหมายตราสามดวงโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นพระธรรมศาสตร์ ที่มีลักษณะทั่วไปและมีฐานะสูงกว่าจารีตประเพณี มีการจัดระบบกฎหมายที่เป็นระบบและมีการใช้เหตุผลของนักกฎหมายปรุงแต่ง
  • กฎหมายตราสามดวงมีลักษณะที่เป็นกฎหมายธรรมชาติ ทุกคนแม้แต่พระมหากษัตริย์ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
  • ไม่มีการบัญญัติโดยแท้ บทกฎหมายใหม่นี้จึงเป็นผลงานของ นักกฎหมาย อันได้แก่ ศาลและพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นนักกฎหมายด้วย ไม่ใช่กฎหมาย ที่บัญญัติขึ้นด้วยเหตุผลทางเทคนิค โดยกระบวนการนิติบัญญัติอย่างปัจจุบัน
  • มีความนับถือตัวบทกฎหมาย เชื่อว่าไม่มีใครสามารถแก้กฎหมายได้เพราะกฎหมายไม่ใช่สิ่งที่คนสร้างขึ้น แม้แต่กษัตริย์ก็แก้ไม่ได้ หากเห็นว่ากฎหมายนั้นไม่เหมาะสมจะใช้การชำระสะสางไม่ใช่ยกร่างขึ้นใหม่หรือ แก้ไขกฎหมายเดิม
  • ไม่ใช่ประมวลกฎหมายที่มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้านเพราะเป็นที่รวมของบทกฎหมายที่ปรุงแต่งโดยนักกฎหมายและจารีตประเพณีที่สำคัญเท่านั้น การเรียกว่าประมวลกฎหมายตราสามดวงนั้นเป็นเพียงการใช้คำว่าประมวลเพื่อยกย่องเท่านั้น
  • เป็นกฎหมายที่ใช้เป็นคู่มือในการชี้ขาดตัดสินคดีเพราะเป็นกฎหมายที่เกิด ขึ้นจากการพิจารณาพิพากษาคดี และใช้ในการพิจารณาพิพากษาคดีเป็นหลัก ไม่ใช่กฎหมายที่เขียนขึ้นในลักษณะตำรากฎหมาย
 

ประวัติการพิมพ์เผยแพร่กฎหมายตราสามดวง

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน กฎหมายตราสามดวงได้เคยถูกพิมพ์เผยแพร่มาแล้วอย่างน้อย 11 ครั้งดังนี้

1.            พิมพ์ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 ปีระกา จุลศักราช 1211 พ.ศ. 2392 พระยากระษาปณกิจโกศล (โหมด อมาตย์กุล) ได้นำตีพิมพ์ไว้เพียงเล่ม 1 ยังไม่จบ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรด กริ้วว่า นำกฎหมายหลวงมาพิมพ์เผยแพร่ จึงยึดไปเผาทำลายเกือบทั้งหมด (อาจมีเหตุผลว่าในสมัยโบราณถือว่าบรรดาความรู้คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของหลวงหวงห้าม จะรู้ได้เฉพาะชนชั้นปกครองเท่านั้น)

2.            พิมพ์ครั้งที่สอง ในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2406 หมอบรัดเลย์ได้ตีพิมพ์จำหน่ายรวม 2 เล่ม เรียกชื่อว่า กฎหมายเมืองไทย 2 เล่ม หรือ กฎหมายหมอบรัดเลย์

3.            พิมพ์ครั้งที่สาม พิมพ์ก่อนปี พ.ศ. 2444 แต่ไม่ระบุว่าเป็นปี พ.ศ.ใด หลวงดำรงธรรมสาร ผู้พิพากษาศาลอาญาจัดพิมพ์ขึ้น เรียกชื่อว่า กฎหมายเก่าใหม่

4.            พิมพ์ครั้งที่สี่ ใน ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงจัดบทใหม่ อธิบายเหตุผลในหัวข้อกฎหมายให้เข้าใจง่ายขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับผู้พิพากษา และเป็นคู่มือทนายว่าความเรียกว่ากฎหมายราชบุรี มี 2 เล่ม

5.            พิมพ์ครั้งที่ห้า พ.ศ. 2473 โรงพิมพ์นิติสาสน์ ได้ถ่ายทำแม่พิมพ์จากสมุดไทย พิมพ์เผยแพร่ไว้ในชุด "ประชุมกฎหมายไทย"

6.            พิมพ์ครั้งที่หก พ.ศ. 2474 ราชบัณฑิตย์สภาจัดพิมพ์ เฉพาะลักษณ์อาชญาหลวงและลักษณะอาชญาราษฎร์ ในงานพระราชทานเพลิงศพมหาอำมาตย์ตรี พระยาลพะนรินทร์ เรืองศักดิ์

7.            พิมพ์ครั้งที่เจ็ด ระหว่าง พ.ศ. 2481–2482 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้ให้ ร.แลงกาต์ ดอกเตอร์กฎหมายฝรั่งเศสเป็นผู้ชำระใหม่และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ 3 เล่ม เรียกว่า ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166 พิมพ์ตามฉบับหลวงตรา 3 ดวง

8.            พิมพ์ครั้งที่แปด หลังจากการพิมพ์ครั้งที่เจ็ดเล็กน้อย นายร้อยตำรวจโทเสถียร ลายลักษณ์ ได้พิมพ์บทกฎหมายตราสามดวงในหนังสือ ประชุมกฎหมายประจำศก ซึ่งมีจำนวน 69 เล่ม โดยกฎหมายตราสามดวงอยู่ในเล่มที่ 3 และ 4

9.            ในยุคปัจจุบันนี้ มีการจัดพิมพ์กฎหมายตราสามดวงอีกสามครั้ง คือ องค์การค้าของคุรุสภา 2 ครั้ง ใน พ.ศ. 2505 และ พ.ศ. 2515 และของกรมศิลปากร 1 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2521 โดยในการพิมพ์ยุคปัจจุบันได้ยึดต้นฉบับของ ร.แลงกาต์ ซึ่งถือว่าสมบูรณ์ที่สุดเป็นบรรทัดฐาน

10.    ล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2548 สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้ จัดพิมพ์ กฎหมายตราสามดวง โดยใช้ชื่อหนังสือชุดนี้ว่า "กฎหมายตรา 3 ดวง : ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่" ซึ่งมี 3 เล่ม ใน 1 ชุด โดยยึดเอา "ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166" ฉบับปี พ.ศ. 2481 เป็นหลัก เพราะ ถือว่าเป็นกฎหมายตราสามดวงฉบับพิมพ์ที่ดีที่สุดแล้ว

การเลิกกฎหมายตราสามดวง

กฎหมายตราสามดวงได้เป็นกฎหมายหลักของประเทศที่ใช้บังคับมาตั้งแต่แผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจนถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว เป็นระยะเวลานานถึง 103 ปี จนกระทั่งมีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลตามแบบประเทศมหาอำนาจยุโรป จึงได้เลิกใช้กฎหมายตราสามดวง

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น